Voice TV (Thai)

เวรี่ไทย (Very Thai)

by Bundit Thienrat บัณฑิต เทียนรัตน์

 

เกือบห้าปีที่ไม่ได้อยู่เมืองไทย ทำให้ผมเริ่มจำไม่ได้ว่า ถ.ศรีนครินทร์อยู่ที่ไหนหว่า???



นอกจากนั้นผมยังงงๆว่า หกช่องฟรีทีวีมันหายไปไหนสองช่อง กลายเป็นอะไรเอ็นๆพีๆบีๆอะไรวะเนี่ย? แล้วรถเมล์รถตู้ทำไมมันถึงได้วิ่งแข่งกันอย่างนั้น? เอ แล้วเค้าไม่มี time table กันเหรอ? แล้วผมจะจัดเวลาการเดินทางยังไงกัน!!!


ครับ ผมดัดจริตไปแล้ว


ผมไม่ได้เป็นคุณชายมาจากไหน เดินทางไปทั่วกรุงเทพฯก็ยังต้องใช้บริการขนส่งมวลชน กินข้าวกินปลาก็ยังต้องพึ่งพาตลาดร้านรวง เดินห้างหรือดีพาร์ทเมนท์สโตร์ใหญ่ๆชื่อฝาหรั่งที่ผุดขึ้นมาเต็มบ้านเต็มเมือง ผมต้องกลายมาเป็นคนกรุงเทพฯส่วนใหญ่ ที่ไม่ใช่อภิสิทธิ์ชน หรือซีเล็บหรูแฝ่ ที่แทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากรุงเทพฯนั้นอากาศร้อน!


ผมจึงถูกสปอยล์โดยไม่รู้ตัวจากออสเตรเลีย ที่นอกเหนือไปจากงานการที่หนักแล้ว(ครับ นอกจากเรียนแล้วผมก็ยังขายแรงงาน) ชีวิตผมที่ซิดนี่ย์จัดว่าง่ายดายมากเมื่อเทียบกับกรุงเทพฯ(อย่างน้อยผมไม่เคยปวดหัวจากการเดินทาง)


ยังดีอยู่บ้างที่ครอบครัวผมมีรถใช้ ผมจึงอาศัยติดสอยห้อยตามนั่งชูคออยู่ในรถ ทำทีเป็นมองออกไปข้างนอกอย่างเบื่อหน่าย ยิ่งเห็นคนแน่นๆบนรถเมล์ก็ยิ่งส่งสายตาสงสารเห็นอกเห็นใจไปให้ ราวกับจะบอกว่า รีบเอาเงินไปซื้อรถคันแรกกันเสียทีเถิด จะได้ไม่ต้องยืนอัดเป็นปลากระป๋องกันอยู่นั่น โดยทำเป็นลืมถามไปยังภาครัฐว่า ทำไมถึงไม่ยอมสร้างระบบขนส่งมวลชนที่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพกว่าที่เป็นอยู่(หมายถึงอะไรที่มันมากกว่ารถไฟฟ้าสายสีต่างๆอะนะครับ เป็นต้นว่า การกระจายความเจริญออกไปนอกเมืองหลวงกว่าที่เป็น ให้รถมันมีโอกาสไปใช้ถนนทั่วประเทศบ้าง การเซ็ตระบบขนส่งมวลชนในหัวเมืองใหญ่ๆ การสร้างรถไฟความเร็วสูงให้สำเร็จ ฯลฯ)


เพราะถ้าระบบขนส่งมวลชนทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้น เรื่องอะไรเราจะมานั่งขับรถขับราเองให้เปลืองค่าน้ำมัน


เอ ผมต้องเลิกบ่นเสียที ก่อนที่ดีกรีความดัดจริตจะพุ่งขึ้นสูงกว่านี้ หากใครมาได้ยินเข้า


เมืองไทยในสายตาของคนไทยและของคนต่างชาตินั้นแตกต่างกันอย่างแน่นอน เราไม่ควรทำตัวเดียงสาเกินไปที่จะไปนึกเอาเองว่า คนต่างชาติจะมองว่าประเทศเราดีวิเศษไปเสียหมดอย่างที่เราพยายามจะ present ภาพลักษณ์ของเมืองไทยออกไปอย่างนั้น ก็ถ้าคนต่างชาติจะมองเราด้วยสายตาแปลกๆเมื่อเห็นวัดวาอาราม(ที่เราชื่นชม) หรือทำสายตาตื่นเต้นกับวัฒนธรรมย่อยที่มากไปด้วยสีสัน(เช่นการประกวดสาวประเภทสอง) แต่เราเองไม่จัดว่าเป็นเรื่องเชิดหน้าชูตา ก็จงทำใจเสียเถิดว่า นั่นคือเรื่องจริงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ภาพลวงตาที่เราคิดเองเออเอง


ก็เหมือนคนไทยเอง เวลาไปเที่ยวเมืองนอกหรือมองต่างชาติ ผมก็ไม่เห็นว่าใครจะไปนั่งสรรเสริญเยินยอพวกเขาแต่เพียงถ่ายเดียวนี่นา เอาแต่จับผิดเสียด้วยซ้ำไปล่ะไม่ว่า มันก็ยุติธรรมดีนี่นะ


แต่ที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ ก็คือคนอย่างพวกผมนี่แหละ ประเภทที่อยู่เมืองนอกมาสักพัก แต่พอต้องกลับมาอยู่เมืองไทยเข้าจริงๆ(ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวที่ประเดี๋ยวก็กลับ)จะมองตัวเองอย่างไรดี 


จะตีโพยตีพายว่าประเทศไทยอีเดียตก็เท่ากับด่าตัวเองไปด้วย จะเอ่ยปากชื่นชมยินดีก็ให้นึกขวยใจที่ต้องโกหกตัวเองไปวันๆ


แล้ววันหนึ่งผมก็ไปเจอะหนังสือเล่มหนึ่งเข้า ที่ทำให้ผมคลายจากอาการ Jet lack ทางเชื้อชาติไปได้โขอยู่ ครับ หนังสือเล่มนี้ชื่อว่า Very Thai Everyday Popular Culture เขียนโดยฝรั่งชาวอังกฤษที่ชื่อว่า Philip Cornwel-Smith ถ่ายภาพโดย John Goss


หนังสือหนากว่าหนึ่งนิ้วเล่มนี้ รวบรวมภาพถ่ายเจ๋งๆเกี่ยวกับเมืองไทยเอาไว้มากมาย ชนิดที่ททท.คงปวดหัวว่าจะเอาไปใช้โปรโมทการท่องเที่ยวดีหรือไม่ เพราะแต่ละภาพและคำอธิบายประกอบนั้นมันช่างขัดกับแนวคิด “ไทยๆแบบททท. “เสียนี่กระไร ชนิดที่พลิกหน้ามือเป็นหลังเท้ากันเลยทีเดียว


และที่สำคัญหนังสือเล่มนี้ติดอันดับหนังสือขายดีเสียด้วย ชนิดที่นิตยสาร Times ก็ได้สละเนื้อที่หน้าเต็มๆในการเขียนถึง และผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียบางท่านถึงกับเลือกหนังสือเล่มนี้ให้เป็นหนังสือยอดเยี่ยมสามอันดับแรกของปี 2005 และยังได้รับการวิจารณ์ในนิตยสารดังๆอย่าง Japan Times, Asian Wall Street Journal, The Independent (UK), The South China Morning Post, The Australian และหนังสือระดับอินเตอร์ฯอีกหลายต่อหลายเล่ม


พูดง่ายๆว่า นี่อาจเป็น “ภาพลักษณ์ “ที่ชาวต่างประเทศอยากจะเห็นและรู้สึกตื่นตาตื่นใจกับมันจริงๆ เพราะมันคือภาพ “ไทยๆ “ที่แสนจะจริงใจขั้นเทพ


ผมพลิกแต่ละหน้าของหนังสือเล่มนี้ด้วยความรู้สึกปะปนไปด้วยความตื่นเต้นและขวยอาย เพราะไม่มีภาพไทยๆในแบบที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพยายามจะนำเสนอ ทั้งวัดพระแก้วอันโอ่อ่าอลังการ พระปรางค์วัดอรุณสะท้อนแสงในแม่น้ำเจ้าพระยา ผลไม้แกะสลักอันสุดละเอียดละออ ช้างทรงช้างศึกที่แสดงถึงกฤดาภินิหาร ดอกบัวตองที่บานสะพรั่งไปทั้งเขา ฯลฯ ไม่มีๆๆๆ เพราะเหล่านี้ไม่ใช่ Very Thai


กว่า 200 หน้าจุไปด้วยภาพที่แบ่งออกเป็นสี่ส่วนคือ Street, Personal, Ritual และ Sa-nook ล้วนเต็มไปด้วยภาพอันแสนจะธรรมดาเจนตาเสียจนนึกไม่ถึงว่าจะมีใครอยากดูอยากเห็น ไม่ว่าจะเป็น ภาพของรถเข็นขายของจิปาถะทั้งสติ๊กเกอร์ ไม้กวาด ถ้วยถังกะละมังหม้อ ถาดลูกชิ้นปิ้งที่สารพัดจะออกแบบจนเลือกกินแทบไม่ถูก โต๊ะหินอ่อนลายหมากรุกหลากสีสัน ผลไม้ที่สักๆไว้ขายตามรถเข็นเร่ตามท้องถนน ช้างร่อนเร่ที่ติดไฟท้ายเอาไว้ งานวัดอันแสนจะเร้าใจ พระพุทธรูปแก้วที่มีครบทุกสีให้เลือก ตลกคาเฟ่ ร้านยาดอง พลูด่างในขวดกระทิงแดง ไก่ชน กราฟฟิตี้ ลิเก ช้างสามเศียร นวดไทย รั้วอัลลอยด์ เสาไฟฟ้ารุงรัง นางงามกะเทย มินิบัส ตั๊กแตนทอด พวงเครื่องปรุง กางเกงนักมวย ไฮโล ศาลพระภูมิ นางกวัก ศิวลึงค์หลากไซส์ รอยสัก ยาดม คอมพิวเตอร์พังๆ ทรงผมไฮโซไฮซ้อ ละครน้ำเน่า ฯลฯ โอ๊ย สารพัดจะถ่ายออกมาเป็นภาพได้


เคยได้ยินข่าว เบคแคม มาเมืองไทยแล้วซื้อศาลพระภูมิติดตัวไปด้วยสามหลังมั้ยครับ? หรือนักท่องเที่ยวญี่ปุ่นถึงกับบินมาไทยเพื่อจะมานวดไทย คนสิงคโปร์บินมาหาอะไรกินที่เมืองไทยทุกสุดสัปดาห์เพราะมีให้เลือกกินเลือกแซ่บได้มากเหลือเกิน นี่ไม่ต้องพูดถึงชาวยุโรปที่มาเมืองไทยเพราะ sex tour เป็นหลัก(เราจะไม่มาเถียงเรื่องอุตสาหกรรมเซ็กส์บนร่างมนุษย์กันในที่นี้) 


ไอ้อะไรเหล่านี้แหละครับ คือภาพที่คนต่างชาติมองเราในฐานะวัตถุแห่งการท่องเที่ยว หาใช่เป็นทูตทางวัฒนธรรมแต่อย่างใดไม่


ผู้เขียนเขาก็พยายามที่จะอธิบายความเป็นเวรี่ไทยเอาไว้ประมาณว่า เหล่านี้คือวัฒนธรรมป๊อปในชีวิตประจำวัน(Everyday pop culture) และงานที่เรียกกันว่า pop นั้นล้วนแต่เป็นการ copy ซึ่งแตกต่างจากงานแบบ folk หรืองานชาวบ้านที่บริสุทธิ์กว่ามาก และยิ่งเป็นงานที่เกี่ยวกับชนชาติ ชนชั้นด้วยแล้ว ก็ยิ่งซับซ้อน เพราะศิลปะเหล่านี้สามารถเลื่อนไหลถ่ายเทสู่กันได้ไม่ว่าจะขึ้นหรือลง งานที่เป็นสาธารณะมากๆอาจจะกลายไปเป็นงานไฮโซเข้าสักวัน เท่ากับที่งานชั้นสูงบางประเภท ก็อาจกลายมาเป็นศิลปะแบบข้างถนนได้ง่ายๆ และการหลอมวัฒนธรรมและชนชาติของไทยนั้นก็น่าสนใจท่ามกลางแนวคิดชาตินิยมที่ตกค้างมาจากสมัยอดีตได้ทำให้การนำเข้า การปรับแต่ง หรือการลอกเลียน เกิดขึ้นอย่างไร้การควบคุมและพยายามจะควบคุม(งงมั้ย?)


ผมสรุปเอาเองว่า ไอ้ที่เขาพูดๆมาเนี่ยก็คือสิ่งที่เรียกว่า “ความมั่วซั่ว “นั่นแหละ และมันก็คือความงามแบบเวรี่ไทย เพราะความมั่วอย่างที่ว่านี้มันเต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา และเราก็อยู่กันมาแบบมั่วๆซั่วๆนี้มาได้อย่างสุขและทุกข์ไปตามประสาแบบไทยๆ แต่วันหนึ่งเราก็เริ่มรู้สึกขวยอายมันขึ้นมาซะงั้น เมื่อเราจะต้อนรับต่างชาติในฐานะของนักท่องเที่ยว(จริงๆเราเปิดรับต่างชาติมานานแล้ว แต่ไม่ใช่ในฐานะนี้) เราจึงพยายามหยิบแง่มุมที่เราคิดว่ามันงามมาขาย ในหลักการเดียวกับการโฆษณาเป๊ะ นั่นก็คือ “ที่เราพูดทั้งหมดคือความจริง แต่มันไม่ใช่ความจริงทั้งหมด “


และความเป็นไทยแบบททท.ที่ทุกสิ่งสรรค์คือความหรูเลิศก็เกิดขึ้น และปักหมุดหมายในความรู้สึกนึกคิดของผู้คน ยามเมื่อคิดถึง “ความเป็นไทย “ขึ้นมา


แต่วันนี้กระแส “เวรี่ไทย “กำลังมาแรงขึ้น และอาจจะเข้ามาแทนที่ความเป็นไทยแบบ traditional เอาได้ง่ายๆ เมื่อเราได้ค้นพบตามลำดับว่า เอาเข้าจริงมันก็ “ขายได้ “พอๆกับไทยททท.นั่นแหละ เราเริ่มตาสว่างว่าคนต่างชาติต้องการเห็นอะไร มองอะไร หนังสือเล่มนี้เป็นแต่เพียงการยืนยันแง่งามนี้เท่านั้น


ผมไม่มีปัญญาพอจะสาธยายความซับซ้อนทางวัฒนธรรมของไทยออกมาได้โดยง่าย เพราะมันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมองด้วยใจเป็นธรรมปราศจากอคติหรือชาตินิยม จะมองด้วยใจเป็นไทยไปเสียเลยก็ไม่ได้ หรือจะมองแบบคนต่างชาติล้วนๆก็ไม่ได้อีก ก็ผมมันพวกเด็กนอกนี่ครับ!!(นี่ถ้าผมจบจากมหาวิทยาลัยในเวียดนาม คนจะมองว่าผมเป็นเด็กนอกมั้ย??)


แต่อย่างน้อยแต่ละภาพและบทความในหนังสือเล่มนี้ ก็เหมือนจะสะกิดสะเกาบอกผมว่า อย่าได้ถือตัวในฐานะเด็กนอกบ้าๆบอๆนี้เลย(มึงจบมาแค่ดิโพลม่าด้วยซ้ำ!) เพราะท่ามกลางความมั่วซั่วที่ผมกำลังจำต้องสังกัดตัวเองลงไปนี้ แม้มันจะเป็นมุมที่คนต่างชาติเห็นว่าน่ารักน่าใคร่รู้และ Exotic แต่ในขณะเดียวกันเขาก็กำลัง(ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม)ดูแคลนเราอยู่นิดๆ ด้วยเห็นว่าประเทศเรานั้นอยู่ในโลกที่สามและยังคงมีความเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนอยู่มิคลาย(ไม่งั้นจะ exotic เหรอ?)


แต่ถ้าพูดให้เป็นธรรม หนังสือเล่มนี้ก็นำเสนอตัวเองในเชิงศิลปะเสียมากกว่าจะมานั่งวิพากษ์หรือวิเคราะห์สังคมไทยอย่างจริงจัง ทุกภาพจึงลดรูปลงเหลือเพียงแค่ลายเส้น สีสัน องค์ประกอบขัดแย้งในเชิงที่สร้างความสะเทือนใจในแบบที่รูปถ่ายทุกภาพสามารถสื่อสารได้ และคำอธิบายประดามีนั้นมีไว้เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจที่มาที่ไปของสังคมไทยอันหล่อหลอมให้เกิดความเป็น “เวรี่ไทย “ขึ้นมาได้นั่นเอง


ผมคงต้องยอมรับไปในที่สุดว่า ความ “มั่ว “คือหัวใจของสังคมไทย อย่าว่าแต่รถเมล์ อย่าว่าแต่สถานีโทรทัศน์ หรือการไม่มี time table เลย อะไรๆๆๆๆๆก็ตามในบ้านนี้เมืองนี้ มันมีฐานรากมาจากความผสมผสาน ปรับแปลง ลอกเลียน สร้างสรรค์ใหม่ อย่างที่หนังสือเล่มนี้เขาว่าเอาไว้จริงๆนั่นแหละ จนกลายมาเป็นอะไร “ไทยๆ “ที่ยากจะหาใครมาเสมอเหมือน(ขอยืมสำนวนททท.หน่อย) ลองดูการเมืองในแบบไทยๆดูมั่งก็ได้!


ไม่ว่าจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม แต่ผมก็ต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของมันในที่สุด


สมัยอยู่ออสเตรเลียนั้น ผมนึกเบื่อเป็นกำลังว่า มันช่างเป็นเมืองที่แล้งไร้ทางศิลปะอย่างที่สุด ทุกอย่างดูเหมือนกันไปหมด ทุกสถานีรถไฟก็แทบไม่มีอะไรแตกต่างเลย ทุกสิ่งดูเป็นระเบียบเรียบร้อย โล่งตาจนน่าเบื่อ ไม่มี texture อะไรในชีวิตประจำวันให้ได้ตื่นเต้นเลย


แต่ผมไม่มีปัญหานี้สักนิดในเมืองไทย เมืองที่เต็มไปด้วยความมันส์ในความมั่วอันแสนจะเร้าใจ


แล้วผมก็หลงลืมมติอื่นๆในเชิงสังคมที่บ้านเราควรสร้างสรรค์ให้ดียิ่งๆขึ้น ให้ชีวิตประชาชนสะดวกง่ายดายมากขึ้น แล้วก็มองบ้านเราอย่างเริ่มยอมรับ ทำใจ และปลงใจ


และท่องคาถาปลอบใจตัวเองเสียใหม่ว่า นี่แหละ “เวรี่ไทย “(ๆๆๆๆ)

Bundit Thienrat บัณฑิต เทียนรัตน์
ศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ Diploma of Screening, Sydney Film School อดีตบรรณาธิการข่าวศิลปวัฒนธรรมบันเทิง, คอลัมนิสต์, นักร้อง และนักเขียนอิสระ

Posted in: Reviews,

Tags: #book  #reviews #Thai language